เสียงประกาศภายในอาคารกีฬานิมิบุตร กับการแข่งขันฟุตซอลคนหูหนวกชิงแชมป์โลก รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี ครั้งที่ 1 “U-18 World Deaf Futsal Championships 2017” ที่เพิ่งจบไปไม่นาน นั่นเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าของ “น้องซิน” มธุรดา โพธิ์ทอง ที่กลายเป็นขวัญใจของหนุ่มน้อย หนุ่มใหญ่ ทั้งนักกีฬา เจ้าหน้าที่ กองเชียร์ บอลบอย สื่อมวลชน ไปจนถึง กองเชียร์ที่เข้ามาในสนาม
นับว่าเป็นโอกาสดีของนักศึกษาจากหลายสถาบันที่ได้มีโอกาสมาร่วมงานกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย, กรมพลศึกษา และ สมาคมกีฬาคนหูหนวกแห่งประเทศไทย รวมทั้ง “น้องซิน” ที่มาจากคณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ หลักสูตรวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
สาวสวยวัย 22 ปี เผยว่า “มีอาจารย์ทางหลักสูตรภาษาอังกฤษติดต่อมาขอนักศึกษาอาสาสมัครที่จะมาช่วยงานทำหน้าที่เป็นล่าม ประกาศรายชื่อผู้เล่น และผู้ทำประตู และพิธีการต่างๆ เป็นการแข่งขันอินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งจะรวมหลากหลายประเทศมาทำการแข่งขันกีฬากันค่ะ พอรู้แบบนี้ก็รู้สึกสนใจ ถ้าได้ลองเป็นล่ามก็จะเป็นการใช้ภาษาอังกฤษตามที่ ‘ซิน’ เรียนมา ก็เลยตัดสินใจสมัครไปค่ะ”
แต่เก่งภาษาอังกฤษอย่างเดียวไม่ได้ เพราะงานนี้ต้องสื่อสารกับคนหูหนวก ดังนั้นต้องเข้าใจภาษามือเบื้องต้นด้วย รวมทั้งศัพท์เฉพาะทางของกีฬาฟุตซอลที่ต้องเรียนรู้อีก
“แต่ไม่ใช่อยู่ๆก็ไปทำนะคะ ต้องมีการอบรมภาษามือกันก่อนเผื่อต้องคุยกับคนอื่นๆที่ไม่สามารถพูดหรือคุยภาษาอังกฤษได้”
“ยอมรับว่าแรกๆเครียดมาก นอกจากจะต้องเป็นล่ามแล้ว ยังต้องเป็นโฆษกด้วย จำเป็นต้องเตรียมตัวมากขึ้น ‘ซิน’ ต้องหาคลิปตามสื่อต่างๆว่าเขาทำกันยังไง จำเป็นต้องพูดอะไรบ้าง และงานครั้งนี้เป็นงานแรกของ ‘ซิน’ และเป็นงานใหญ่ด้วย ทำให้กดดันพอสมควร เคยไปขอทางทีมงานและอาจารย์ถอนตัวด้วย แต่เขาไม่ยอมค่ะ ให้กำลังใจเราและบอกว่าเราทำได้ ‘ซิน’ เลยลองตัดสินใจทำดู”
“นอกจากเรื่องเรียนแล้วกลับจากมหาวิทยาลัยก็ต้องเตรียมงานนี้อีก ต้องทำการบ้านเยอะๆ เป็นอีกเรื่องที่ต้องวางแผนจัดสรรเวลาให้ดี วันแรกๆ เครียดมาก กดดัน นอกจากจะเป็นโฆษกแล้ว ต้องเตรียมรายชื่อนักกีฬา ประกาศผลต่างๆแล้ว เราก็ต้องไปช่วยเป็นล่ามด้วย ซึ่งมันไม่ใช่ภาษาอังกฤษที่เราใช้สื่อสารกันทั่วไป แต่เป็นคำศัพท์ทางการกีฬา คนละเรื่องเลยกับที่ ‘ซิน’ รู้จัก เป็นคำศัพท์ที่เราไม่รู้และไม่เข้าใจจริงๆ”
เป็นธรรมดาของทุกคนกับการทำหน้าที่ครั้งแรก แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี และเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ได้สัมผัสและเรียนรู้จริง
“ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ทำให้เราต้องพยายามขึ้น ขอบคุณโอกาสที่ได้มาทำงานตรงนี้ เป็นประสบการณ์ ที่ท้าทายและคุ้มค่ามากจริงๆ และก็ขอขอบคุณทางผู้ใหญ่และทีมงานทุกๆท่านที่ให้โอกาสและสอนให้’ซิน’ รู้งานมากยิ่งขึ้น ถ้าหากมีโอกาสก็อยากจะทำอีก เพื่อแก้ไขในจุดบกพร่องต่างๆที่เราพลาดไปและเพื่อพัฒนาตัวเองให้มีศักยภาพมากขึ้นค่ะ”
ในหลายสมาคมกีฬาก็ได้อาสาสมัครที่มีความสามารถมาช่วยงาน จนต่อยอดกลายเป็นพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ประจำในเวลาต่อมา ใครจะรู้ว่า “น้องซิน” ขวัญใจหนุ่มๆของศึกฟุตซอลคนหูหนวกชิงแชมป์โลก ยู 18 รายนี้ อาจจะได้เป็นล่าม หรือโฆษก ระดับมืออาชีพให้กับวงการกีฬาคนต่อไปก็ได้